Friday, March 26, 2010

คุณพ่อเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009?

เมื่อคืนวานนี้คุณพ่อป่วยเป็นไข้สูงมาก คุณหมอจึงแนะนำว่า ควรแยกห้องนอนกับผู้ป่วย และรอดูอาการ 2 วันหากไข้ไม่ลดลงมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009  O__O"

และอันตรายสำหรับคุณแม่ซึ่งกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ คุณพ่อกลัวหนูกับคุณแม่ติดไข้
คุณพ่อจึงขับรถพาแม่กับลูกมาส่ง ให้ค้างคืนที่บ้านอาม่า

ช่วงนี้น่าจะเป็นสัปดาห์ที่ 5-6 ซึ่งหนูน่าจะกำลังแบ่งตัวสร้างอวัยวะ ... รึเปล่าน๊า?

T _ T ไม่รู้จะต้องแยกกันกี่วัน
แม่ไม่เหงาเพราะมีหนูอยู่ในพุงเป็นเพื่อน แต่สงสารคุณพ่อที่ต้องนอนป่วยคนเดียวที่บ้านของเรา



ปล. วันนี้ช๊อปปิ้งชุดใหม่สำหรับคุณแม่มาอีก 1 ชุด

******************************************************************
ข้อมูลเพิ่มเติม
หญิงตั้งครรภ์ กับไข้หวัดใหญ่ 2009


หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 อาการแรกเริ่มจะเหมือนกับไข้หวัดทั่วไป คือมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก อาจมีอาการปวดตามตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หรือคลื่นไส้ อาเจียน แต่เมื่อใดก็ตามที่ไข้สูง อาการเป็นมาก กินยาแล้วยังไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะบางรายอาการอาจรุนแรงในเวลาอันรวดเร็ว จึงมีการจัดหญิงตั้งครรภ์ให้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงเมื่อเป็นโรคนี้

ถ้าถามว่าความเสี่ยงสูงอย่างไร คงเทียบได้กับความเสี่ยงในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปแล้วเป็นโรคนี้

หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ควรได้รับยารักษาโรคเร็ว ถ้ามีอาการที่น่าสงสัย เช่น ไข้สูง ปวดตามตัว ไอมาก มีน้ำมูก ร่วมกับมีประวัติเคยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ หรือตรวจคัดกรองแล้วให้ผลเป็นบวก ควรเริ่มการรักษาทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอผลการตรวจยืนยัน ซึ่งใช้เวลาหลายวัน มักแนะนำให้ยารักษาภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ

ยาที่ให้ได้แก่ โอเซลทามิเวียร์ รับประทานเป็นเวลา 5 วัน การได้ยาเร็วมักได้ผลดี เพราะหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อนี้มีบางรายเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น โรคปอดบวม

หลายคนอาจมีความกังวลว่า ยาโอเซลทามิเวียร์จะมีผลเสียต่อทารกในครรภ์หรือไม่ จากการที่มีการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่ผ่านๆ มา ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ายามนี้จะมีผลเสียต่อทารกในครรภ์

แม้ว่าหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจะมีอัตราการแท้ง และการคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าคนทั่วไป ส่วนใหญ่มักจะเป็นจากอาการของโรค เพราะการมีไข้สูงมากจะมีผลทำให้แห้ง หรือก่อให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ หากมีไข้สูงควรรับประทานยาพาราเซตามอล หรืออะเซตามิโนเฟน ไม่ควรรับประทานแอสไพริน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการสร้างอวัยวะต่างๆ ของทารก การจะรับประทานยาใดๆ คงต้องพิจารณาให้รอบคอบ แพทย์มักจะชั่งน้ำหนักดูระหว่างความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจาก โรค กับผลเสียที่อาจเกิดจากยา

เมื่อใดที่เห็นว่าความเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์จากโรคมีสูง แพทย์ก็จะให้ยาทันที

ดังนั้นการจะให้ยาหรือไม่จึงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป แต่ถ้าอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป และมีอาการน่าสงสัยมากดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรจะได้ยาโอเซลทามิเวียร์เลย โดยไม่ต้องรอผลการตรวจยืนยันเชื้อ

หญิงตั้งครรภ์ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 มาแล้ว สามารถถ่ายทอดติดไปถึงลูกในครรภ์หรือไม่ ?

แม้จะยังไม่มีข้อมูลมากพอ แต่ในทางทฤษฎีเมื่อผู้ใดติดเชื้อ จะมีช่วงหนึ่งที่ไวรัสเข้าไปในกระแสโลหิต แม้จะเพียงจำนวนน้อยและจะหายไปในเวลาอันสั้น ถ้าบังเอิญเด็กคลอดในตอนนั้น เด็กอาจได้รับเชื้อมาได้ แต่ถ้าอาการของหญิงตั้งครรภ์ดีขึ้นแล้วเด็กที่คลอดก็ไม่ควรจะติดเชื้อมาด้วย

การให้นมแม่หลังคลอด เนื่องจากไข้หวัดใหญ่ 2009 ยังเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จึงยังไม่มีหลักฐานว่าเชื้อผ่านทางน้ำนมได้หรือไม่ แต่จากรายงานต่างๆ เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แทบไม่พบเชื้อไวรัสเหล่านั้นในกระแสโลหิต จึงไม่น่าจะมีเชื้อออกมาทางน้ำนม และการที่คุณแม่ได้ยาต้านไวรัสก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามในการให้นมลูก

จึงแนะนำว่าเด็กควรได้รับนมแม่หากขณะที่คลอดคุณแม่ยังไม่แน่ว่าหายจากโรค หรือยัง ให้ใช้วิธีบีบน้ำนมใส่ขวด แล้วให้บุคคลอื่นเป็นคนป้อนนม ถ้าคุณแม่มีอาการคล้ายเป็นหวัด แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยในขณะดูแลลูกหรือให้นมลูก

ข้อแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์ทั่วไปเพื่อไม่ให้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ใหม่ 2009 ได้แก่ เมื่อไปจับต้องสิ่งของนอกบ้าน ต้องล้างมือทุกครั้งด้วยสบู่ หรือเจลล้างมือ เมื่อออกจากบ้านไปในที่ชุมนุมชนใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง

หากมีบุคคลในครอบครัวเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 ต้องแยกออกไปทันที หรือถ้าใครในบ้านเป็นหวัดให้ใส่หน้ากากอนามัยไว้

สำหรับการฉีดวัดซีนป้องกันโรคในหญิงตั้งครรภ์ แม้ว่าจะมีวัดซีนหลายอย่างที่มีหลักฐานชัดเจนว่าปลอดภัย เช่น วัคซีนป้องกันบาดทะยัก แต่สำหรับวัดซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่มีข่าวว่ากำลังจะนำออกมาใช้ เนื่องจากหลักฐานความปลอดภัยยังไม่ชัดเจน

จึงไม่แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ฉีดในขณะนี้

No comments:

Post a Comment